คำแนะนำสำหรับการลงทุนทำสนามฟุตบอลหญ้าเทียม

คำแนะนำสำหรับการลงทุนทำสนามฟุตบอลหญ้าเทียมหญ้าเทียม มีมาก่อนหน้านี้ 30-40 ปี ในช่วงนั้นยังไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีปัญหา ผู้เล่นได้รับบาดเจ็บจากกการใช้สนามฟุตบอลหญ้าเทียม ต่อมาทางบริษัทผู้ผลิตหญ้าเทียมได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ใกล้เคียงกับหญ้าจริงมากที่สุด และช่วยลดการบาดเจ็บในการเล่น จึงเกิดการนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศโซนยุโรปซึ่งมีสภาวะทางอากาศเป็นเขตหนาว หิมะตก ทำให้หมดปัญหาในการดูแลรักษาหญ้าจริง และปัญหาการปลูกหญ้าไม่ขึ้น ซึ่งหญ้าเทียมสามารถขจัดปัญหาดังกล่าวได้ทั้งหมด ในประเทศไทยที่มีภูมิประเทศเป็นเขตร้อนชื้น ฝนตกชุก ก็ได้รับความนิยมในการติดตั้งหญ้าเทียมเช่นกัน เพราะปัญหาการดูแลรักษาหญ้าจริงมีค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลาพักฟื้นสนามยาวนาน สำหรับผู้ประกอบการให้เช่า สนามฟุตบอลหญ้าเทียมสามารถตอบโจทย์ได้อย่างตรงประเด็น

ประโยชน์ของสนามหญ้าเทียมที่ผู้ประกอบการให้เช่าสนามฟุตบอลได้รับ

1.ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสนามฟุตบอลประมาณ 300,000 ถึง 600,000 บาทต่อปี
2.ผลประกอบการสูงขึ้น ไม่เสียโอกาสในการทำธุรกิจ
2.1หญ้าเทียมสามารถเล่นได้ทุกวันไม่ต้องใช้เวลาในการพักสนามที่ยาวนาน
2.2สามารถเล่นได้แม้ในขณะฝนตก
3.ส่งเสริมทัศนียภาพของสนามฟุตบอลให้ดีขึ้น มีมาตรฐานมากขึ้น
4.เพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากลูกค้าสามารถเล่นได้ทุกวัน สามารถทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ เช่น ร้านอาหาร เครื่องดื่ม กาแฟสด สปา ฯลฯ การลงทุน
ในปัจจุบันนี้ มีผู้ต้องการลงทุนในการทำสนามหญ้าเทียมค่อนข้างมาก สนามหญ้าเทียมประมาณ 20-30 ราย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ ผู้ลงทุนทำสนามฟุตบอลใหม่ และผู้ประกอบการเดิมที่ต้องการติดตั้งหญ้าเทียม

การลงทุนแบ่งเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน คือ

1.สนามฟุตบอลในร่ม
1)ลงทุนเช่าหรือซื้อพื้นที่ (ราคาขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง)
2)โครงหลังคาประมาณ 2,000 – 4,000 บาทต่อ ตารางเมตร
3)ปรับดิน ถมดิน ทำชั้นพื้นฐาน รั้วและระบบไฟส่องสว่างประมาณ 600-1,000 ต่อ ตารางเมตร
4)งานปูหญ้าเทียมประมาณ 1,000 – 2,000 บาท ต่อ ตารางเมตร
5)คลับเฮ้าส์ ห้องน้ำ ตกแต่งสถานที่ ร้านอาหาร (ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ลงทุน) ข้อดี สามารถกันแดดกันฝนได้ สามารถรับลูกค้าในช่วงกลางวันได้ดี ข้อเสีย ลงทุนสูง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในสร้างโครงหลังคาค่อนข้างสูง

2.สนามฟุตบอลกลางแจ้ง
1)ลงทุนเช่าหรือซื้อพื้นที่ (ราคาขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง)
2)ปรับดิน ถมหิน ทำชั้นพื้นฐาน รั้ว ไฟส่องสว่างประมาณ 600-800 บาท/ตารางเมตร
3)งานปูหญ้าเทียม ประมาณ 1,000 – 2,000/ตารางเมตร
4)คลับเฮ้าส์ ห้องน้ำ ร้านอาหาร ตกแต่งสถานที่ (ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ประกอบการ) ข้อดี ลงทุนไม่สูงมาก คืนทุนเร็ว ได้บรรยากาศของการเล่นฟุตบอลกลางแจ้ง ข้อเสีย รับลูกค้าในช่วงกลางวันได้ไม่เต็มที่ เนื่องในเวลากลางวันแดดร้อน

การเลือกหญ้าเทียมและวัสดุการติดตั้งที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการสนามฟุตบอล ควรพิจารณาตามหัวข้อ ดังนี้

1.ความแข็งแรงทนทาน เนื่องจากสนามฟุตบอลที่ให้เช่าจะมีผู้เล่นมาใช้สนามทุกวันทำให้สนามใช้งานหนัก ดังนั้นควรเลือกวัสดุหญ้าเทียมที่มีความแข็งแรงทนทาน วัสดุที่ควรพิจารณามีลักษณะ ดังนี้ -วัสดุรองรับการทอของหญ้าเทียมต้องมีความหนา ไม่ฉีกขาดง่าย สามารถทดสอบดึงและฉีกได้จากตัวอย่างหญ้าเทียมที่ผู้ขายนำเสนอ -ใบหญ้าเทียมต้องมีความหนา หรือควรมีแกนหญ้า มีความเหนียว ทนต่อแรงดึงไม่ฉีกขาดง่าย

2.ต้องมีความปลอดภัยกับผู้เล่นไม่ทำให้ผู้เล่นบาดเจ็บ เนื่องจากสนามหญ้าเทียมในปัจจุบัน ในบางสนามทำให้ผู้เล่นบาดเจ็บจากการล้มระหว่างการเล่น จึงควรพิจารณาวัสดุ ดังนี้ -ความสูงของใบหญ้า ควรมีความสูงไม่ต่ำกว่า 5 เซนติเมตร เพื่อรองรับแรงกระแทก -อัตราการทอ หรือความถี่ของการเย็บควรมีความถี่สูง และมีความหนาแน่นของใบหญ้าสูง -ควรเลือกหญ้าเทียมที่มีใบหญ้าที่มีคุณสมบัติเก็บเม็ดยางได้ดี ไม่กระจุยกระจาย เพราะเม็ดยางสามารถช่วยลดแรงกระแทกระหว่างการเล่นได้ดี

3.ชั้นพื้นฐานของหญ้า ควรเลือกวัสดุที่มีความแข็งแรงทนทาน และมีระบบระบายน้ำได้ดี เนื่องจากหญ้าเทียมมีความแพร่หลายและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ประกอบกับตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการและผู้เล่นได้ดี แนวโน้มการผลิตหญ้าเทียม และติดตั้งสนามหญ้าเทียมในอนาคตจึงเพิ่มสูงมากขึ้น ซึ่งผู้ผลิตจะพัฒนาหญ้าเทียมให้ใกล้เคียงกับหญ้าจริงให้มากที่สุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คาดว่าในอนาคตจะมีผู้ประกอบการสนามฟุตบอลในประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น และจะมีการแข่งขันในธุรกิจนี้กันอย่างมาก ผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนรายใหม่ควรศึกษาให้ดีและพัฒนาธุรกิจสนามฟุตบอลให้เช่าให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้ามากที่สุด เพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต